Last updated: 27 มี.ค. 2565 | 2034 จำนวนผู้เข้าชม |
การรักษาแบบจำเพาะเจาะจงต่อเซลล์มะเร็ง หรือ Targeted Therapy เป็นการรักษาโรคมะเร็งแบบออกฤทธิ์จำเพาะเจาะจงต่อเซลล์มะเร็ง โดยให้ยาหรือสารไปยับยั้งกระบวนการส่งสัญญาณระดับเซลล์ ซึ่งเป็นต้นเหตุของการเจริญเติบโตและแบ่งตัวของเซลล์มะเร็ง
ชนิดของมะเร็ง ที่สามารถรักษาด้วย Targeted Therapy
ในปัจจุบัน Targeted Therapy สามารถใช้ในการรักษาโรคมะเร็งได้หลายชนิด อาทิ
มะเร็งปอด
มะเร็งตับ
มะเร็งไต
มะเร็งลำไส้ใหญ่
มะเร็งเต้านม
มะเร็งรังไข่
มะเร็งศีรษะและลำคอ
มะเร็งต่อมน้ำเหลือง
ยาในกลุ่ม Targeted Therapy แบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก ได้แก่
Monoclonal Antibodies ส่วนใหญ่จะออกฤทธิ์โดยจับกับเป้าหมายที่อยู่ภายนอกเซลล์หรือบนผิวเซลล์แล้วจึงทำลายเซลล์มะเร็ง หรือทำให้เซลล์มะเร็งไม่สามารถแบ่งตัวหรือเจริญเติบโตได้ บางครั้งก็มีการนำสารกัมมันตภาพรังสีผูกติดกับ Monoclonal Antibodies เพื่อให้เกิดการทำลายเซลล์มะเร็งได้มากขึ้น ทั้งนี้ยา Monoclonal Antibodies มักอยู่ในรูปแบบของยาฉีด
Small molecules เป็นยาที่มีโมเลกุลเล็ก สามารถผ่านเข้าสู่เยื่อหุ้มเซลล์ จึงสามารถจับกับเป้าหมายทั้งที่อยู่ภายในเซลล์และบนผิวเซลล์ได้ โดยส่วนใหญ่ยาประเภท Small Molecules จะอยู่ในรูปแบบของยารับประทาน
ทั้งนี้ กลไกการออกฤทธิ์ของยาจะแตกต่างกันไป ขึ้นกับกระบวนการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งชนิดนั้นๆ
การรักษามะเร็งด้วยวิธี Targeted Therapy ไม่ว่าจะเป็นการรักษาเดี่ยวหรือการรักษาร่วมกับเคมีบำบัดหรือรังสีรักษา เป้าหมายของการรักษาจะขึ้นอยู่กับชนิดและระยะของมะเร็ง ดังนี้
รักษาโรคมะเร็งให้หายขาด
ยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง
ทำลายเซลล์มะเร็งที่สามารถแพร่กระจายไปยังส่วนอื่นๆ ของร่างกาย
บรรเทาอาการต่างๆ ที่มีสาเหตุจากมะเร็ง
เนื่องจากการใช้ Targeted Therapy ในการรักษาโรคมะเร็งบางชนิด ผู้ป่วยจำเป็นต้องมีตัวรับหรือเป้าหมาย (Target) ที่ตอบสนองต่อยา ก่อนเข้ารับการรักษา แพทย์จะต้องทำการตรวจผู้ป่วยก่อนว่ามียีนหรือตัวรับที่สามารถใช้รักษาด้วย Targeted Therapy ได้หรือไม่
ระยะเวลาและความถี่ของการรักษาด้วย Targeted Therapy ขึ้นกับชนิดของมะเร็ง เป้าหมายของการรักษา ยาที่ใช้ และการตอบสนองต่อยาของผู้ป่วย ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาถึงแผนการรักษาที่เหมาะสมให้กับผู้ป่วยแต่ละราย
แม้ว่าการรักษามะเร็งแบบ Targeted Therapy จะมีผลข้างเคียงน้อยกว่าการให้เคมีบำบัด แต่ก็ยังมีผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้ ซึ่งผลข้างเคียงอาจแตกต่างกันไปตามชนิดและขนาดของ Targeted Therapy ที่ได้รับ โดยส่วนใหญ่ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น
อาการทางผิวหนัง เช่น ผิวหนังอักเสบ มีผื่นที่ผิวหนัง
ท้องเสีย
ผลต่อหัวใจ
ผลต่อตับ
ผลต่อไต
ความดันโลหิตสูง
ดังนั้น เมื่อได้รับการรักษาแบบ Targeted Therapy ผู้ป่วยจึงควรสอบถามถึงผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นอย่างละเอียด และควรพบแพทย์ทันทีหากมีอาการผิดปกติเกิดขึ้น
แหล่งข้อมูล: https://www.bumrungrad.com/
7 พ.ค. 2565
25 มิ.ย. 2564
23 มิ.ย. 2564
20 ก.ค. 2564