Last updated: 27 มี.ค. 2565 | 1019 จำนวนผู้เข้าชม |
ไวรัส RSV (Respiratory Syncytial Virus) เป็นเชื้อไวรัสชนิดหนึ่งที่เป็นสาเหตุของการติดเชื้อทางเดินหายใจทั้งส่วนบนและส่วนล่าง สามารถเกิดการติดเชื้อได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ แต่ส่วนมากแล้วมักเกิดในเด็กเล็ก ๆ ที่อายุต่ำกว่า 3 ปี สำหรับในประเทศไทยอาจพบการระบาดได้บ่อยในช่วงฤดูฝนหรือช่วงปลายฝนต้นหนาว
การติดต่อของเชื้อ RSV นี้สามารถติดต่อผ่านสารคัดหลั่งต่าง ๆ ในร่างกาย เช่น น้ำมูก น้ำลาย ละอองจากการไอ จาม โดยเฉพาะการติดต่อจากการสัมผัส ซึ่งหากเด็กได้รับเชื้อ ระยะฟักตัวของโรคจะอยู่ที่ประมาณ 5 วัน โดยในช่วง 2 – 4 วันแรกมักมีอาการคล้ายไข้หวัดธรรมดา เช่น ไข้ ไอ จาม น้ำมูกไหล เมื่อการดำเนินโรคมีมากขึ้นส่งผลให้ทางเดินหายใจส่วนล่างมีการอักเสบตามมา ทำให้เกิดโรคหลอดลมอักเสบ กล่องเสียงอักเสบ และโรคปอดบวมหรือปอดอักเสบ ในบางรายเกิดอาการรุนแรง เช่น ไข้สูง ไอแรง หอบเหนื่อย หายใจมีเสียงครืดคราด มีเสมหะในลำคอมาก ๆ
สำหรับอาการติดเชื้อ RSV นั้น ช่วงแรกอาจมีอาการคล้ายกับไข้หวัดธรรมดา เช่น มีไข้ ไอ จาม น้ำมูกไหล สำหรับเด็กโตหรือผู้ใหญ่มักมีอาการไม่รุนแรง สามารถหายเองได้ แต่สำหรับเด็กเล็กเชื้ออาจลุกลามไปยังทางเดินหายใจส่วนล่าง จนปอดอักเสบทำให้มีอาการรุนแรงได้แก่
ไข้สูง
หอบเหนื่อย
หายใจเร็วแรง หายใจมีเสียงหวีด หรือครืดคราดในลำคอ
ซึม ตัวเขียว ปากเขียว
หากมีอาการดังกล่าวให้รีบพบแพทย์โดยด่วน
ปัจจุบัน ยังไม่มียารักษาโรคติดเชื้อไวรัส RSV โดยตรง แต่ใช้วิธีการรักษาตามอาการ เช่น การให้ยาลดไข้ แก้ไอละลายเสมหะ ในเด็กบางรายที่มีเสมหะเหนียวมาก ต้องทำการพ่นยาขยายหลอดลมผ่านทางออกซิเจนละอองฝอย เคาะปอด และดูดเสมหะออก จะช่วยลดความรุนแรงของอาการไอและอาการหายใจหอบเหนื่อยได้
สำหรับการรักษาและระยะเวลาฟื้นไข้ หากอาการไม่รุนแรงอาจหายเองได้ภายใน 5-7 วัน แต่บางรายที่ติดเชื้อถึงทางเดินหายใจส่วนล่างและมีอาการหนัก อาจใช้เวลาได้ถึง 2-3 สัปดาห์ ด้วยระยะเวลาการเจ็บป่วยค่อนข้างนานและต้องมีการทำหัตการ เช่น พ่นยาขยายหลอดลม ดูดเสมหะหรือเคาะปอดช่วย จึงทำให้หากต้องนอนพักค่ารักษาตัวในโรงพยาบาลด้วย RSV มีค่าใช้จ่ายต่อครั้งค่อนข้างสูง
1. ล้างมือบ่อยๆด้วยสบู่และน้ำสะอาด สอนให้เด็กล้างมือให้ถูกต้อง
2. ไม่ใช้แก้วน้ำหรือของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น
3. หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วย โดยเฉพาะการติดต่อกันในครอบครัวจากเด็กก่อนวัยเรียน
4. หลีกเลี่ยงการพาเด็กเล็กไปสถานที่ที่มีผู้คนหนาแน่น เช่น ห้างสรรพสินค้า ไม่ควรพาเด็กไปเล่นในที่ที่มีเด็กเล่นอยู่ด้วยกันจำนวนมาก
5. ผู้ที่ป่วยควรงดการออกนอกบ้านในช่วงที่ไม่สบาย เพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อ และควรปิดปากจมูกเวลาไอจาม
6. ทำความสะอาดบ้าน รวมทั้งของเล่นเด็กเป็นประจำ
อย่างไรหากมีอาการผิดปกติ เช่น ไอมากกว่าปกติ รู้สึกหอบเหนื่อย ควรรีบเข้าพบแพทย์ เพื่อป้องกันและทำการรักษาได้ทันถ่วงที
23 มิ.ย. 2564
7 พ.ค. 2565
25 มิ.ย. 2564
12 ก.ค. 2564