รู้เกี่ยวกับการตรวจสภาพรถ (ตรอ)

Last updated: 27 มี.ค. 2565  |  1020 จำนวนผู้เข้าชม  | 

รู้เกี่ยวกับการตรวจสภาพรถ

ตรอ. หรือสถานตรวจสภาพรถเอกชน

คือสถานตรวจสภาพรถเอกชนที่ได้รับอนุญาตจากกรมการขนส่งทางบก หรือหน่วยงานของกรมการขนส่งทางบกก็ได้ หมายถึงเป็นสถานที่เอาไว้ใช้ตรวจสภาพรถว่ามีความพร้อมในการใช้งานบนท้องถนนตามข้อกำหนดของทางกรมการขนส่งฯ หรือไม่ จัดทำขึ้นมาเพื่อลดภาระการตรวจสภาพรถจากทางกรมการขนส่งโดยตรง

เมื่อไหร่ถึงต้องตรวจสภาพกับ ตรอ.?

พระราชบัญญัติ การขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 และพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 ได้มีข้อกำหนดเอาไว้ว่า รถที่จะนำมาใช้ในการขนส่งจะต้องมีสภาพมั่นคง แข็งแรง มีลักษณะ ขนาด และเครื่องอุปกรณ์ส่วนควบของรถ ถูกต้องตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง ทั้งนี้ เพื่อความปลอดภัยของผู้ขับรถ ผู้โดยสารไปกับรถคันนั้น ผู้ขับขี่รถคันอื่น ๆ คนเดินถนน รวมทั้งสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ดังนั้นจึงต้องมีการตรวจสอบให้อยู่ในสภาพที่ใช้งานได้ตลอดอายุการใช้งาน โดยรถที่อยู่ในข่ายต้องตรวจสภาพรถก่อนเสียภาษีประจำปีมีดังนี้ครับ

1. รถตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบกทุกประเภท โดยไม่จำกัดอายุการใช้งาน

2. รถตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ ประเภทรถดังนี้

  • รถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คน ที่มีอายุใช้งานครบ 7 ปี ขึ้นไป

  • รถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกิน 7 คน ที่มีอายุใช้งานครบ 7 ปี ขึ้นไป

  • รถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล ที่มีอายุใช้งานครบ 7 ปี ขึ้นไป

  • รถจักรยานยนต์ ที่มีอายุใช้งานครบ 5 ปี ขึ้นไป

สถานที่ตรวจสภาพ

1. รถที่จดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบกทุกประเภท เจ้าของรถจะนำไปตรวจสภาพ ที่สถานตรวจสภาพรถเอกชน (ตรอ.) ที่ได้รับอนุญาตจากกรมการขนส่งทางบก หรือหน่วยงานของกรมการขนส่งทางบกก็ได้
2. รถที่จดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ ประเภทรถยนต์ส่วนบุคคลและรถจักรยานยนต์ ต้องตรวจสภาพกับสถานตรวจสภาพรถ (ตรอ.) ที่ได้รับอนุญาตจากกรมการขนส่งทางบกเท่านั้น

ยกเว้น
1 รถยนต์ที่มีน้ำหนักรถเปล่าเกิน 1,600 กิโลกรัม จะตรวจสภาพที่ ตรอ. หรือหน่วยงานของกรมการขนส่งทางบกก็ได้
2 รถของส่วนราชการ บุคคลในคณะผู้แทนทางการฑูต คณะผู้แทนทางกงสุล องค์การระหว่างประเทศ ฯลฯ จะตรวจสภาพที่ ตรอ. หรือหน่วยงานของกรมการขนส่งทางบก ก็ได้
3 รถที่มีการดัดแปลงสภาพ รถที่เปลี่ยนสี เปลี่ยนเครื่องยนต์ รถที่มีปัญหาเกี่ยวกับเลขตัวรถ หรือเลขเครื่องยนต์ รถที่ขาดต่ออายุทะเบียนเกิน 1 ปี ฯลฯ (รายละเอียดตามข้อ 7) ให้นำรถไปตรวจสภาพ ณ หน่วยงานของกรมการขนส่งทางบก

ระยะเวลาที่ต้องนำรถไปตรวจสภาพ

การตรวจสภาพรถ เจ้าของสามารถนำรถไปตรวจสภาพล่วงหน้าได้ไม่เกิน 3 เดือน ก่อนถึงวันสิ้นอายุภาษีประจำปี

อัตราค่าตรวจสภาพ

  • รถจักรยานยนต์ คันละ 60 บาท

  • รถยนต์ที่มีน้ำหนักรถเปล่าไม่เกิน 1,600 กิโลกรัม คันละ 150 บาท

  • รถยนต์ที่มีน้ำหนักรถเปล่าเกิน 1,600 กิโลกรัม คันละ 250 บาท

ในการไปติดต่อกับสถานตรวจสภาพรถให้เจ้าของรถนำรถและสมุดคู่มือทะเบียนรถไปแสดง หากผลการตรวจสภาพปรากฏว่า รถอยู่ในเกณฑ์ผ่านการตรวจสภาพ สถานตรวจสภาพรถจะออกใบรับรองการตรวจสภาพรถตามแบบที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด รถอยู่ในเกณฑ์ไม่ผ่านการตรวจสภาพ สถานตรวจสภาพรถจะแจ้งข้อบกพร่องที่เป็นเหตุให้รถนั้นไม่ผ่านการตรวจสภาพให้เจ้าของทราบ เพื่อจะได้นำรถไปแก้ไขข้อบกพร่องแล้วนำมาตรวจใหม่ หากแก้ไขแล้วนำไปตรวจสภาพที่สถานตรวจสภาพรถเอกชนแห่งเดิมภายใน 15 วัน จะเสียค่าตรวจใหม่ ในอัตราครึ่งหนึ่งของค่าบริการที่กำหนดไว้ แต่หากเกิน 15 วัน หรือไปตรวจที่สถานตรวจสภาพรถเอกชนแห่งอื่นจะเสียค่าบริการเต็มอัตรา

การนับอายุใช้งานของรถ

การนับอายุการใช้งานของรถ ให้นับอายุทางทะเบียนโดยนับตั้งแต่วันที่จดทะเบียนครั้งแรก ถึงวันสิ้นสุดอายุภาษีประจำปี (วันครบกำหนดเสียภาษีประจำปี) เช่น

  • รถยนต์ จดทะเบียน ปี 2558 จะต้องเข้ารับการตรวจสภาพรถครั้งแรก ปี 2565 (ครบ 7 ปี ตามอายุการใช้งานรถยนต์)

  • รถมอเตอร์ไซค์ จดทะเบียน ปี 2560 จะตรวจสภาพรถครั้งแรก ปี 2565 (ครบ 5 ปี ตามอายุการใช้งานรถมอเตอร์ไซค์)

ตรวจ ตรอ. ต้องใช้เอกสารอะไรบ้าง?

สำหรับใครที่มีอายุรถถึงเกณฑ์จะต้องต่อทะเบียนหรือต่อภาษีประจำปีแล้ว และจะต้องนำรถเข้าตรวจสภาพที่ ตรอ. ให้เตรียมเอกสารสมุดประจำรถหรือสำเนาไปด้วยครับ และให้นำรถคันจริงเข้าไปตรวจสภาพได้เลยครับ

เงื่อนไขเกี่ยวกับประเภท ชนิด (ยี่ห้อ) และขนาดรถที่สถานตรวจสภาพรถเอกชนจะให้บริการตรวจสภาพได้

สถานตรวจสถาพรถเอกชนแต่ละแห่งจะต้องตรวจสภาพรถตามชนิด (ยี่ห้อ) ประเภท และ ขนาดรถตามที่ยื่นขออนุญาตและได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนกลางไว้ เช่น ตรวจสภาพรถยนต์ ขนาดน้ำหนักรถเปล่าไม่เกิน 1,600 กิโลกรัม ทุกยี่ห้อ หรือตรวจสภาพรถจักรยานยนต์ เฉพาะยี่ห้อหรือตรวจสภาพรถยนต์ขนาดน้ำหนักรถเปล่าไม่เกิน 1,600 กิโลกรัม และเกิน 1,600 กิโลกรัม และรถจักรยานยนต์ทุกยี่ห้อ เป็นต้น

กรณีรับตรวจสภาพรถบางชนิด (ยี่ห้อ) ต้องแสดงป้ายที่เห็นได้ชัดเจน เพื่อให้ประชาชนที่จะมาใช้บริการทราบด้วย กรณีสถานตรวจสภาพรถเอกชนแห่งใดประสงค์จะตรวจสภาพรถในประเภท ชนิด(ยี่ห้อ) และขนาดต่างจากที่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนกลาง ให้ทำหนังสือขออนุญาตต่อนายทะเบียน กลางเพื่อพิจารณาเป็นราย ๆ ไปได้

รถที่ต้องนำไปให้นายทะเบียนตรวจสถาพที่หน่วยงานของกรมการขนส่งทางบก (สถานตรวจสภาพรถเอกชนไม่สามารถรับตรวจสภาพได้)

  • รถที่ดัดแปลงสภาพผิดไปจากที่ได้จดทะเบียนไว้

  • รถที่เปลี่ยนสีหรือเปลี่ยนแปลงตัวรถหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของรถให้ผิดไป จากรายการที่จดทะเบียนไว้ในสมุดคู่มือทะเบียนรถ (เช่น เปลี่ยนเครื่องยนต์ เปลี่ยนลักษณะรถ เปลี่ยน ชนิดน้ำมันเชื้อเพลิง เป็นต้น)

  • รถที่มีปัญหาเกี่ยวกับเลขตัวรถหรือเลขเครื่องยนต์ (เช่น ไม่ปรากฏตัวเลข ตัวเลขชำรุด หรือมีร่องรอยการแก้ไข ขูด ลบ หรือลบเลือน จนไม่สามารถตรวจสอบความถูกต้องได้ เป็นต้น)

  • รถที่เจ้าของได้แจ้งการไม่ใช้ชั่วคราว หรือแจ้งการไม่ใช้รถตลอดไปไว้

  • รถเก่าที่มีเลขทะเบียนเป็นเลขทะเบียนรุ่นเก่า ( เช่น กท-00001, กทจ-0001 เป็นต้น) ซึ่งรถดังกล่าวต้องเปลี่ยนทะเบียนรถใหม่เมื่อมีการนำมาเสียภาษีประจำปี

  • รถที่มีปัญหาเกี่ยวกับการถูกโจรกรรมแล้วได้คืน

  • รถที่ได้สิ้นอายุภาษีประจำปี (ขาดต่อทะเบียน) เกิน 1 ปี

ใบตรวจสภาพ ตรอ. มีอายุการใช้งานเท่าไหร่?

เมื่อทำการตรวจสภาพเรียบร้อย และสภาพรถผ่านเกณฑ์ทางตรอ. หรือสถานตรวจสภาพรถเอกชน จะทำการออกใบรับรองการตรวจสภาพมาให้ เพื่อเป็นการรับรองว่ารถยนต์คันนี้อยู่สภาพพร้อมใช้งาน เจ้าของรถสามารถนำไปนี้ไปทำการต่อภาษีประจำปีหรือต่อทะเบียนได้ที่กรมการขนส่งทางบกฯ ส่วนอายุการใช้งานนั้น มีอายุที่ 3 เดือนครับ

การต่อทะเบียนรถยนต์หรือต่อภาษีรถยนต์ประจำปี สามารถต่อล่วงหน้าได้ 3 เดือนก่อนวันสิ้นอายุ (ตามที่ระบุเอาไว้ในป้ายวงกลมหรือป้ายภาษี) แต่ถ้าต่อทะเบียนรถยนต์หรือต่อภาษีรถยนต์ประจำปี หลังจากวันสิ้นอายุเมื่อไหร่ จะมีค่าปรับทันทีครับ โดยจะเสียค่าปรับเป็นจำนวน 1% จากจำนวนค่าภาษีประจำปีต่อเดือน ส่วนค่าปรับจากเจ้าหน้าที่ตำรวจข้อหาใช้รถที่ยังไม่ได้เสียภาษีประจำปีตามระยะเวลาที่กำหนด อัตราโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาทครับ สำหรับมาตรฐานของตรอ. หรือสถานตรวจสภาพรถเอกชน จะถูกตรวจสอบโดยกรมการขนส่งทางบกฯ อย่างเคร่งครัด ดังนั้นเข้าที่ไหน ก็มีคุณภาพใกล้เคียงกันครับ

ข้อมูลจาก
- กรมการขนส่งทางบก
- คู่มือการปฎิบัติงานสำหรับสถานตรวจสถาพรถ

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้