Last updated: 27 มี.ค. 2565 | 6780 จำนวนผู้เข้าชม |
แน่นอนว่าคำถามนี้คงอยู่ในใจใครหลายๆ คน ว่าถ้าหากเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นมา เราจะต้องชดใช้ค่าเสียหายหรือจะสามารถเรียกร้องค่าเสียหายจากเจ้าของสุนัขหรือสัตว์เลี้ยงได้ไหม และสามารถเคลมประกันรถยนต์ได้หรือไม่
กรณีที่เราขับรถชนสุนัข แมว สัตว์เลี้ยง หรือสัตว์ประเภทอื่นๆ สามารถแยกเป็นกรณีต่างๆ ได้ดังนี้
ในกรณีที่เราขับรถบนถนนหรือทางเดินรถ แล้วไปชนกับสุนัข แมว หรือสัตว์อื่นๆ ที่วิ่งตัดหน้ารถ แต่ไม่สามารถระบุเจ้าของสัตว์ได้ และรถยนต์ก็ได้รับความเสียหายจากการชน หากเจ้าของรถทำประกันรถยนต์ชั้น 1 ก็จะได้รับความคุ้มครอง สามารถเคลมค่าเสียหายได้ทั้งหมด โดยไม่ต้องเสียค่าเสียหายส่วนแรก แต่ถ้าไม่ได้ทำประกันรถยนต์ไว้ หรือทำประกันรถยนต์ประเภทอื่นที่ไม่ใช่ประกันชั้น 1 ก็จะไม่ได้รับความคุ้มครองในกรณีนี้ เจ้าของรถต้องจ่ายค่าซ่อมรถ หรือจ่ายค่าเสียหายเอง
แต่ถ้าเราขับรถชนน้องหมา น้องแมว หรือสัตว์อื่นๆ ที่วิ่งตัดหน้ารถบนถนนสาธารณะ ถนนในหมู่บ้าน หรือทางเดินรถอื่นๆ จนเป็นเหตุให้สุนัขได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต และรถยนต์ก็เกิดความเสียหาย หากภายหลังทราบเจ้าของสุนัขหรือเจ้าของสัตว์ได้ชัดเจน เจ้าของสัตว์จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าเสียหายทั้งหมด เนื่องจากในพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 111 บัญญัติว่า ห้ามมิให้ผู้ใด จูง ไล่ต้อนหรือปล่อยสัตว์ไปบนทางในลักษณะที่เป็นการกีดขวางการจราจรและไม่มีผู้ควบคุมเพียงพอ หากฝ่าฝืนก็อาจต้องรับโทษปรับไม่เกิน 500 บาท (มาตรา 148)
หากเกิดอุบัติเหตุ เจ้าของสัตว์ต้องรับผิดชอบค่าเสียหายทั้งหมดที่เกิดจากการขับรถชนสัตว์บนถนน ตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 433
แต่ถ้าเจ้าของสัตว์ไม่รับผิดชอบ สามารถนำหลักฐานการชน เช่น ภาพถ่าย หรือภาพจากกล้องหน้ารถ ไปแจ้งความเพื่อลงบันทึกประจำวัน แล้วนำใบแจ้งความนั้นไปยื่นเคลมประกันกับบริษัทประกันได้ กรณีประกันชั้น 1 เท่านั้น
แต่หากเราขับรถไปในพื้นที่ส่วนบุคคล เช่น บริเวณบ้านพักอาศัย หรือที่อื่นๆ นอกเหนือจากทางเดินรถ แล้วเกิดเฉี่ยวชนสุนัข หรือสัตว์อื่นโดยไม่ได้ตั้งใจ จนสัตว์บาดเจ็บหรือเสียชีวิต และรถยนต์ก็ได้รับความเสียหายเช่นกัน ในกรณีนี้เจ้าของรถถือว่ามีความผิด และต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าเสียหายเอง รวมถึงต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่เจ้าของสัตว์ด้วย เพราะเจ้าของสัตว์ได้ป้องกันระมัดระวังอุบัติเหตุให้กับสัตว์เลี้ยงแล้ว ผู้ขับรถเป็นผู้ไม่ระวังแล้วขับรถเข้าพื้นที่ของสัตว์จนเกิดความเสียหาย
หากใครที่ตั้งใจขับรถชนสุนัข หรือสัตว์อื่นๆ และพบหลักฐานว่ามีเจตนาขับรถชนสัตว์ตัวนั้น แม้รถยนต์เสียหาย เจ้าของรถก็ถือว่ามีความผิดตาม พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557 โดยระบุโทษจำคุก 2 ปี หรือปรับ 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ อีกทั้งยังมีความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 เนื่องจากทำให้เจ้าของสัตว์เลี้ยงเสียทรัพย์เพิ่ม มีค่าปรับ 1,000 บาท
ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า ไม่ว่าคุณจะเป็นฝ่ายผิดหรือฝ่ายถูก หากทำประกันรถยนต์ชั้น 1 ก็ยังคงได้ความคุ้มครองจากอุบัติเหตุขับรถชนสุนัข ต่างจากประกันชั้นอื่นที่จะคุ้มครองค่าซ่อมรถเฉพาะเมื่อชนกับรถด้วยกันเท่านั้น ส่วนเรื่องความผิดนั้น หากขับรถชนสุนัขบนถนน ถือว่าเจ้าของสุนัขผิด เพราะดูแลสุนัขไม่ดี แต่ถ้าเราไปขับรถชนสุนัขในพื้นที่ส่วนบุคคล ถือว่าเจ้าของรถมีความผิด รวมถึงการตั้งใจขับรถชนสุนัขก็มีความผิดด้วยเช่นกัน
เมื่อได้ทราบกันไปแล้วว่า ขับรถชนสุนัขหรือสัตว์เลี้ยง เคลมประกันได้ไหม อย่างไรก็ตาม เราควรขับขี่รถยนต์กันอย่างปลอดภัย ไม่ประมาท และควรใช้ความเร็วอย่างเหมาะสม เพราะอาจเกิดอุบัติเหตุสุนัขวิ่งตัดหน้ารถ หรือสัตว์อื่นๆ วิ่งตัดหน้ารถได้ทุกเมื่อ
17 ต.ค. 2564
7 มี.ค. 2566
11 มิ.ย. 2565