การประกันภัยสำหรับเงิน คืออะไร?

Last updated: 27 มี.ค. 2565  |  807 จำนวนผู้เข้าชม  | 

การประกันภัยสำหรับเงิน คืออะไร?

การประกันภัยสำหรับเงิน

คือ การประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองต่อความสูญเสียของเงิน ไม่ว่าเงินนั้นจะอยู่ภายในอาคารที่ทำการของผู้เอาประกันภัย ในตู้นิรภัย หรืออยู่ในระหว่างการขนส่งจากสถานที่หนึ่งไปอีกสถานที่หนึ่ง นอกจากนี้ ยังให้ความคุ้มครองต่อตัวตู้นิรภัย ห้องนิรภัย ตัวอาคาร หรือทรัพย์สินอื่น ๆ ซึ่งเกิดจากการชิงทรัพย์ การปล้นทรัพย์ การโจรกรรมเงินจากตู้นิรภัย ห้องนิรภัยและความเสียหายต่อเนื่องจากการจี้ปล้น

การประกันภัยสำหรับเงิน เหมาะกับใคร?

เจ้าของธุรกิจ เช่น ผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรม ห้างสรรพสินค้า สถาบันการเงิน ปั๊มน้ำมัน สำนักงานที่มีการรับ-ส่งเงิน เป็นต้น

การประกันภัยสำหรับเงิน มีกี่ประเภท?

มี 1 ประเภท

ความคุ้มครองเบื้องต้น ครอบคลุมอะไรบ้าง?

ผู้เอาประกันภัยสามารถเลือกซื้อความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยสำหรับเงิน เพื่อชดเชยความสูญเสียของเงินได้ ดังนี้

1. การสูญเสียของเงินเพื่อจ่ายค่าจ้างและ/หรือเงินเดือน

• คุ้มครองความสูญเสียของเงินระหว่างการขนส่งสู่สถานที่เอาประกันภัยเพื่อจ่ายค่าจ้างและ/หรือเงินเดือนให้แก่ลูกจ้างของผู้เอาประกันภัย

• คุ้มครองความสูญเสียของเงินขณะที่อยู่ในสถานที่เอาประกันภัยจนกระทั่งจ่ายออกไปและอยู่นอกเวลาทำงาน ส่วนที่เหลือจากการจ่ายทั้งหมดต้องเก็บไว้ในตู้นิรภัยหรือห้องนิรภัยที่ปิดล็อคไว้เรียบร้อย

2. ความสูญเสียของเงินภายในสถานที่เอาประกันภัย คุ้มครองความสูญเสียของเงินที่อยู่ในสถานที่เอาประกันภัย และอยู่ในเวลาทำงาน

3. ความสูญเสียของเงินภายในตู้นิรภัยหรือห้องนิรภัย คุ้มครองความสูญเสียของเงินนอกเวลาทำงานขณะเก็บไว้ในตู้นิรภัย หรือห้องนิรภัยที่ปิดล็อคไว้เรียบร้อย

4. ความสูญเสียของเงินภายนอกสถานที่เอาประกันภัย คุ้มครองความสูญเสียของเงินขณะขนส่ง

5. ความเสียหายต่อตู้นิรภัยหรือห้องนิรภัย คุ้มครองความเสียหายต่อตู้นิรภัย ห้องนิรภัย ตัวอาคาร สถานที่เอาประกันภัย และทรัพย์สินอื่น ๆ จากการชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ โจรกรรมเงินจากตู้นิรภัย ห้องนิรภัย หรือความพยายามกระทำการดังกล่าว

ภัยที่คุ้มครองแบ่งเป็น 3 แบบ ดังนี้

  • ปง.1 : คุ้มครองความสูญเสียของเงินจากการชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ รวมถึงความพยายามกระทำการดังกล่าว

  • ปง.2 : คุ้มครองความสูญเสียของเงิน จากภัยทุกชนิดที่ไม่ได้ระบุยกเว้นไว้ เช่น ความเสียหายจากการลักทรัพย์ ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ อัคคีภัย และภัยธรรมชาติ

  • ปง.3 : ให้ความคุ้มครองเหมือนแบบที่ 2 แต่ขยายรวมถึงการฉ้อโกงหรือ ยักยอกโดยพนักงานรับส่งเงินหรือผู้รักษาเงินซึ่งค้นพบภายใน 3 วันทำการ

อัตราเบี้ยประกันภัย ขึ้นอยู่กับปัจจัยอะไรบ้าง?

  • จำนวนเงินความรับผิดแต่ละความคุ้มครอง และประมาณการของเงินในการขนส่ง

  • ลักษณะของเงิน (เงินภายในสำนักงาน หรือเงินที่ต้องขนย้าย)

  • ใครคือผู้ดูแลเงินในระหว่างการขนส่ง

  • เส้นทางการขนส่ง

  • ระบบการรักษาความปลอดภัย

  • ปัจจัยอื่นๆ

อ้างอิง : สมาคมประกันวินาศภัยไทย และโตเกียวมารีนประกันภัย

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้