รู้จัก ‘ยาภูมิคุ้มกันบำบัด’ หรือ Immunotherapy

Last updated: 27 มี.ค. 2565  |  2053 จำนวนผู้เข้าชม  | 

รู้จัก ‘ยาภูมิคุ้มกันบำบัด’

การรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด หรือ Immunotherapy

เป็นการรักษาโรคมะเร็งโดยอาศัยหลักการทำงานของภูมิคุ้มกัน กล่าวคือ เมื่อมีสิ่งแปลกปลอมเข้าสู่ร่างกาย ระบบภูมิคุ้มกันจะถูกกระตุ้นให้ทำการกำจัดสิ่งแปลกปลอมนั้นออกจากร่างกาย เป็นการส่งเสริมให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานเพื่อให้สามารถกำจัด หรือควบคุมเซลล์มะเร็งในร่างกายได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

หลักการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy)

ในร่างกายของเรามีเซลล์ผิดปกติเหมือนเซลล์มะเร็งเกิดขึ้นทุกวัน แต่ด้วยกลไกของร่างกาย ทำให้เซลล์มะเร็งไม่กลายเป็นโรคมะเร็ง เพราะเซลล์ผิดปกตินี้จะทำลายตัวเอง หรือหากหลุดรอดจากการทำลายตัวเองก็จะมีเซลล์ภูมิต้านทานของร่างกายมาทำลายเซลล์มะเร็งนี้ เพราะฉะนั้นเซลล์มะเร็งที่เกิดขึ้นทุกวันจึงไม่ได้ส่งผลให้เป็นโรคมะเร็ง แต่การที่เรายังมีโอกาสเป็นโรคมะเร็งได้นั้นเกิดจากเซลล์มะเร็งที่เกิดขึ้น สร้างโปรตีนบางอย่างเพื่อพรางตัวเอง ส่งผลให้ภูมิต้านทานของร่างกายไม่สามารถกำจัดเซลล์มะเร็งได้และทำให้เป็นโรคมะเร็งในที่สุด

หลักการรักษาด้วยยาภูมิคุ้มกันบำบัด

คือ เมื่อเกิดการผิดปกติของเซลล์ ยาในกลุ่มนี้จะเข้าไปช่วยเพิ่มการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายให้มีประสิทธิภาพในการต่อต้านเซลล์มะเร็งได้ดีขึ้น โดยเมื่อเซลล์เกิดความผิดปกติจนกลายเป็นมะเร็ง จะมีผิวเซลล์แตกต่างออกไป ซึ่งเม็ดเลือดขาวสามารถแยกแยะได้และคอยฆ่าสิ่งแปลกปลอม ก่อนที่จะโตขึ้นมาเป็นก้อน แต่หากเซลล์มะเร็งแข็งแรงขึ้นหรือภูมิคุ้มกันร่างกายแย่ลง เซลล์มะเร็งจะสามารถพัฒนาตัวเองสร้างสารขึ้นเพื่อป้องกันไม่ให้เม็ดเลือดขาวมองเห็นว่ามะเร็งเป็นสิ่งแปลกปลอม จึงไม่เกิดการทำลายเซลล์มะเร็ง แต่ยาภูมิคุ้มกันบำบัดจะเข้าไปเพิ่มประสิทธิภาพให้เม็ดเลือดขาวสามารถมองเห็นว่าเซลล์มะเร็งเป็นสิ่งแปลกปลอม จึงสามารถฆ่ามะเร็งได้สำเร็จ

การรักษาด้วยยาภูมิคุ้มกันบำบัด สามารถใช้ร่วมกับยาชนิดอื่น หรือใช้เดี่ยว ๆ ก็ได้ ขึ้นกับอาการของโรคมะเร็ง

ภูมิคุ้มกันบำบัดประเภทต่างๆ กับการรักษามะเร็ง

ภูมิคุ้มกันบำบัดที่นำมาใช้ในการรักษาโรคมะเร็งแบ่งออกได้เป็น 4 ประเภทใหญ่ๆ ตามกลไกการทำงานของเซลล์ภูมิคุ้มกัน ดังนี้

  • โมโนโคลนอลแอนติบอดี (Monoclonal Antibodies) เป็นโปรตีนสังเคราะห์เลียนแบบสารภูมิต้านทานที่เป็นโปรตีนของระบบคุ้มกันของร่างกาย ในการรักษามะเร็ง แอนติบอดีจะได้รับการพัฒนาให้มีความจำเพาะและออกฤทธิ์ต่อมะเร็งชนิดนั้นๆ

  • ยับยั้งการทำงานที่อิมมูนเช็คพอยต์ (Immune Checkpoint Inhibitors) มีกลไกทำงานโดยยับยั้งระบบควบคุมและสั่งการให้มีการทำลายเซลล์แปลกปลอมหรือหยุดการทำลายเซลล์ของร่างกาย (Immune Checkpoint) เพราะบางกรณีเซลล์มะเร็งจะอาศัยระบบนี้ในการ “ซ่อนตัว” จากการถูกทำลายโดยระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ยากลุ่มนี้จึงได้รับการพัฒนาขึ้นมาเพื่อกระตุ้นให้ระบบภูมิคุ้มกันตรวจจับเซลล์มะเร็งได้ดีขึ้น

  • วัคซีนโรคมะเร็ง (Cancer Vaccines) วัคซีนโรคมะเร็งเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยให้ร่างกายสามารถต่อสู้กับเซลล์มะเร็งได้โดยการกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันให้สามารถทำลายเซลล์มะเร็ง หรือปกป้องร่างกายให้ปลอดจากมะเร็งได้ อาทิ วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก

  • ภูมิคุ้มกันบำบัดแบบไม่จำเพาะ (Non-specific Immunotherapies) ภูมิคุ้มกันบำบัดประเภทนี้ไม่ออกฤทธิ์จำเพาะต่อมะเร็งโดยตรง แต่เป็นการกระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกายโดยทั่วไป เพื่อให้ตอบสนองต่อเซลล์มะเร็งอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ภูมิคุ้มกันบำบัดใช้ในการรักษามะเร็งชนิดใด

การศึกษาวิจัยในเรื่องของภูมิคุ้มกันบำบัดกับโรคมะเร็งยังคงดำเนินต่อไปอย่างกว้างขวาง ยาหลายชนิดที่มีกลไกการทำงานโดยอาศัยภูมิคุ้มกันบำบัดได้รับการอนุญาตให้ใช้แล้วในสหรัฐอเมริกา โดยใช้เป็นการรักษาหลัก หรือการรักษาเสริมร่วมกับวิธีการรักษามาตรฐานอย่าง เคมีบำบัด การฉายรังสี หรือการผ่าตัด

ปัจจุบันมีการนำวิธีทางภูมิคุ้มกันบำบัดมาใช้รักษาโรคมะเร็ง ดังต่อไปนี้

  • มะเร็งผิวหนังเมลาโนมาระยะลุกลาม

  • มะเร็งปอดบางชนิด

  • มะเร็งไตที่ดื้อต่อการรักษาด้วยวิธีอื่น

  • มะเร็งศีรษะและลำคอที่ดื้อต่อเคมีบำบัด

  • มะเร็งในกระเพาะปัสสาวะที่ดื้อต่อเคมีบำบัด

  • มะเร็งต่อมน้ำเหลือง

ผลข้างเคียงของยา

ยาออกฤทธิ์กระตุ้นภูมิคุ้มกันอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงที่เกี่ยวข้องกับภาวะภูมิไวเกิน อาจไม่เหมาะกับผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวบางชนิด ดังนั้นเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและความปลอดภัยสูงสุด ผู้ป่วยควรอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด อาการข้างเคียงที่อาจเกิดได้ เช่น ผิวเป็นผื่น ลำไส้อักเสบ ท้องเสีย ปอดอักเสบ รวมถึงอาจส่งผลกระทบให้ไทรอยด์ทำงานมากหรือน้อยเกินไป หรือน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นได้ ฯลฯ

ภูมิคุ้มกันบำบัด เป็นวิทยาการที่ก้าวหน้าในการรักษามะเร็งซึ่งยกระดับการรักษาให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีการพยากรณ์โรคที่ดีขึ้น และมีระยะเวลาปลอดโรคยาวนานขึ้น นับเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของผู้ป่วยในการต่อสู้กับมะเร็งอย่างมีประสิทธิภาพกว่าเดิม

แหล่งข้อมูล: โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ / ศูนย์มะเร็งตรงเป้า - โรงพยาบาลจุฬารัตน์ 9 แอร์พอร์ต / News Medical Life Sciences

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้